26 พฤศจิกายน 2557

"ฮันบก" ชุดประจำชาติเกาหลี และประวัติความเป็นมา

ฮันบก ชุดประจำชาติเกาหลี
ฮันบก (한복) คือชุดแต่งกายประจำชาติแบบดั้งเดิมของเกาหลี สืบเนื่องมาเป็นเวลาหลายพันปี การแต่งกายของเกาหลี โดดเด่นด้วยสีสันสดใสและลวดลายที่เรียบง่าย 

          องค์ประกอบหลักๆของชุดฮันบกได้แก่
          - “저고리- Jeogori (ชอกอรี)” : เสื้อ
          - “바지- Baji (พาจี)” : กางเกง
          - “치마- Chi ma (ชีมา)” : กระโปรง


ผ้าที่นำมาใช้ตัดชุด ฮันบกมีอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้ามัสลิน ผ้าไหม ผ้าแพร การเลือกชนิดของผ้าในการตัดเย็บ จะเลือกโดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศ เช่น ชุดฮันบกที่จะสวมใส่ในฤดูหนาวมักใช้ผ้าที่ทอจากฝ้าย เป็นต้น


ประวัติของชุดฮันบก









ประวัติของชุดฮันบก:
ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์นักโบราณคดีเชื่อว่ารูปแบบเครื่องแต่งกายของคนเกาหลี มาจากเครื่องแต่งกายของพวกไซเธียนในช่วงยุคสำริด




-สมัยสามอาณาจักร หรือสามก๊ก (โคกูรยอ, แพ็กเจ, ชิลลา)


           1) อาณาจักรโคกูรยอ (37 ปีก่อนคริสตกาล - ค.ศ.668หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด ที่ทำให้นักโบราณคดีได้ข้อมูลใหม่ๆ และทราบถึงต้นกำเนิดของชุดฮันบก ก็คือ หลักฐานจากหลุมฝังศพและภาพจิตรกรรมฝาผนังจากสมัยโคกูรยอ (3 -8 ปีก่อนคริสตกาล) ที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบของเครื่องแต่งกายของคนเกาหลีในสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน  ซึ่งมีรูปแบบการแต่งกายที่เหมือนกับพวกชนเผ่าเร่ร่อนแถบเอเชียเหนือทั่วๆไป 


ในสมัยอาณาจักรโคกูรยอตอนต้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงต่างก็สวมเสื้อคลุมที่เรียกว่า ชอกอรี (ยู,) โดยตัวเสื้อจะยาวเลยเอวลงมา จะคาดและผูกด้วยเชือกไหมหรือแถบคาดรอบเอว และสวมกางเกงขายาว ที่เรียกว่า บาจี (โก,) ที่ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่ จะแตกต่างกันก็เพียงแค่การจัดแต่งทรงผม และต่อมาผู้หญิงเริ่มที่จะมีการสวมใส่กระโปรงมีจีบรวบตัว เรียกว่า ชีมา (Sang,หรือ Gun,) ทับกางเกงอีกชั้นหนึ่งด้วย รูปแบบการแต่งกายในแต่ละระดับชนชั้นหรืออาชีพไม่ค่อยแตกต่างกันชัดเจนเท่าไหร่นัก จะมีก็เพียงแค่ผู้ที่ทำงานใช้แรงมักจะสวมใส่เสื้อ ชอกอรีที่สั้นกว่าและมีแขนที่กว้างมากกว่า เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในขณะที่ทำงาน




***เครื่องแต่งกายจากเรื่อง “จูมง” ปฐมกษัตริย์แห่งสมัยโคกูรยอ ซึ่งถือว่าไม่ตรงกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องแต่งกายในราชสำนัก เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีสวมใส่มงกุฎ และการปักลวดลายบนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จากภาพจะเห็นเป็นรูปลายมังกร ดอกไม้และลวดลายที่ซับซ้อนซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีคะ 


***เครื่องแต่งกายจากเรื่อง Sword and Flower ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ “พระเจ้ายองรยู” ในช่วงยุคโคกูรยอตอนปลาย ถือว่าค่อนข้างตรงกับหลักฐานความเป็นจริงมาก
        

          2) อาณาจักรแพ็กเจ (18 ปีก่อนคริสตกาล- ค.ศ. 660)  


          3) ชิลลา (57 ปีก่อนคริสตกาล- ค.ศ.654) ชาวแพ็กเจและชิลลาก็สวมใส่เสื้อผ้าคล้ายๆกับ ชาวโคกูรยอ ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก 

จนตั้งแต่ช่วงกลาง-ปลายสมัยสามก๊กก็เริ่มมีการแบ่งเครื่องแต่งกายตามลำดับชนชั้น และมีการสวมใส่มงกุฎ  หมวกรูปกรวย และหมวกประดับแตกแต่งด้วยขนนก เป็นต้น



- สมัยอาณาจักรโครยอ (ค.ศ.918- ค.ศ.1392)

ขณะที่ชุดฮันบกลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากมองโกล ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชุดฮันบก เนื่องด้วยในราชวงศ์โครยอตอนปลายได้มีการทำสนธิสัญญาสันติภาพกับจักรวรรดิมองโกล ในศตวรรษที่ 13 โดยการให้องค์ชายวังคี (น้องชายขององค์ชายวังยู ในเรื่อง Empress Ki) เสด็จไปเมืองปักกิ่งและอภิเษกกับองค์หญิงมองโกล (**องค์หญิงโนกุก -노국대장공주) ซึ่งต่อมาพระองค์ได้กลับมาเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าคงมินแห่งโครยอ ส่งผลให้มีการรับเอาศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงรูปแบบของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อย่างเสื้อชอกอรีของสตรีที่มีการออกแบบให้มีสัดส่วนที่ต่างไปจากเดิม จุดสำคัญก็คือการปรับตัวเสื้อให้มีความยาวที่สั้นลง และแขนเสื้อที่ปรับให้แคบและเพิ่มให้มีความโค้งเล็กน้อย และที่สำคัญคือมี “옷고름โอซโกรึม” เพิ่มเข้ามาเพื่อใช้ผูกเสื้อให้ติดกันเป็นโบว์บริเวณหน้าอก แทนการใช้แถบชิ้นผ้าหรือเส้นไหมที่คาดทับเสื้อชอกอรีที่เอวเหมือนเมื่อก่อน


** "องค์หญิงโนกุก" หรือมีชื่อในภาษามองโกเลียว่า "Borjigin Budashiri" (ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น "สมเด็จพระราชินีโนกุกแทจาง") เป็นองค์หญิงจากมองโกลที่ถูกกำหนดให้อภิเษกกับองค์ชายวังคีแห่งโครยอ ภายใต้สนธิสัญญาสันติภาพของมองโกลราชวงศ์หยวน แม้ในตอนแรกทั้งสองจะอาศัยอยู่ที่ปักกิ่ง แต่ต่อมาองค์ชายวังคีก็ได้กลับมาขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าคงมินแห่งโครยอ
และนี่..ทำให้อาณาจักรโครยอหรือเกาหลีในสมัยนั้นได้รับเอาเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวมองโกลเข้ามา เป็นบ่อเกิดที่สำคัญของรูปแบบชุดฮันบกในสมัยโชซอนต่อมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าพระนางจะเป็นองค์หญิงมองโกลแต่พระนางก็สนับสนุนโครยอและสามีของพระนางเสมอมา และหลังจากอภิเษกมา 15 ปี พระนางก็ได้ทรงพระครรภ์ แต่จากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการคลอดบุตรทำให้พระนางเสียชีวิตลงในปี 1365



บทบาทขององค์หญิงโนกุกที่ถ่ายทอดสู่บทละครและภายนตร์โดยนักแสดงชั้นนำของเกาหลี






- สมัยอาณาจักรโชซอน (ค.ศ.1392-1910) 



ในช่วงยุคอาณาจักรโชซอนเป็นจุดหักเหที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงฮันบก แม้จะค่อยๆมีการเปลี่ยนไปอย่างทีละเล็กละน้อยก็ตาม  อย่างเสื้อชอกอรีของสตรีมีการทำให้สั้นลงและให้กระชับกับผู้สวมใส่มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา


ช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ถึงกลางศตวรรษที่ 17 เสื้อชอกอรีมีขนาดตัวเสื้อยาวมากสุดถึง 78 เซนติเมตร (วัดตั้งแต่ไหล่ลงมา) แต่พอในปี ค.ศ.1650 สตรีได้เริ่มมีการตัดเย็บและสวมใส่ชอกอรีที่สั้นและสั้นลงเรื่อยๆ จนถึง ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เหลือความยาว (ที่วัดจากไหล่ลงมา) แค่เพียงประมาณ 20 เซนติเมตรเท่านั้น


เครื่องแต่งกายในสมัยโชซอนนอกเหนือจากที่มีการแบ่งรูปแบบของเครื่องแต่งกายตามวรรณะ ตามฐานะทางสังคม หรืออาชีพแล้ว ยังมีชุดที่เป็นเครื่องแบบที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่างๆในความเชื่อของลัทธิขงจื้ออีกด้วย เช่น ชุดในพิธีแต่งงาน ชุดสำหรับไว้ทุกข์ให้กับผู้ตาย และชุดในพิธีต่างๆของราชสำนัก





ช่วงยุคปลายของอาณาจักรโชซอน เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีขึ้น ผู้คนเริ่มมีการศึกษาเล่าเรียน มีความรู้ มีสติปัญญามากกว่าเมื่อก่อน ทำให้เริ่มไม่พอใจกับระบบขุนนางและเริ่มมีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น ทำให้เริงโรมที่เป็นสถานที่ให้ความบันเทิงได้รับความนิยมมากของพวกขุนนาง และชายหนุ่มที่มีฐานะเข้าสังสรรค์ดื่มกินและสนทนาทางการเมืองกัน ในช่วงนี้เองสตรีในเริงโรม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “기생- (กีแซง)” มีการแข่งขันกันสูงเพื่อให้ตนมีชื่อเสียง และได้รับเลือกให้ปรนนิบัติขุนนางชั้นสูง ส่งผลให้ชุดฮันบกเริ่มมีการปักลวดลายให้สวยงามมากขึ้น ประกอบกับเริ่มมีการเดินทางติดต่อค้าขาย และไปศึกษาหาความรู้ในต่างประเทศ รวมไปถึงการเข้ามาของพวกมิชชันนารี และทางการทูตกับเปอร์เซีย จีนและญี่ปุ่น ทำให้มีผ้าชนิดต่างๆ ที่มีลวดลายและสีสันสวยงามมาใช้ในการตัดเย็บชุดฮันบกมากขึ้น รวมถึงเครื่องประดับต่างๆที่เข้ามาจากต่างประเทศ



ประกอบกับการปรับความยาวของเสื้อชอกอรีที่สั้นลงจนเหลือความยาว (ที่วัดจากไหล่ลงมา) แค่เพียงประมาณ 20 เซนติเมตร ซึ่งมีความยาวไม่เพียงพอที่จะปิดคลุมหน้าอกได้มิดชิด จึงได้มีการเปลี่ยนให้ขอบกระโปรงชีมาที่จากเดิมสวมใส่และผูกไว้บริเวณเอวให้ย้ายขึ้นมาสวมใส่และผูกไว้ให้ใต้หน้าอกแทน และได้นำชิ้นผ้าที่เรียกว่า "허리띠-Heoritti (ฮอรีตี แปลว่า ผ้าคาดเอว หรือแถบผ้าตรงส่วนเอวของกระโปรงหรือกางเกง)" มาพันรอบอกและผูกไว้ ซึ่ง “ฮอรีตี” ในตอนแรกนั้นจะเป็นชิ้นผ้าสีขาวธรรมดาๆ "허리띠-Heoritti (ฮอรีตี)" ซึ่งต่อมาก็เริ่มใช้ผ้าสี และการปักลวดลายลงบนตัวชิ้นผ้า การแต่งกายเช่นนี้ได้เผยเห็นขนาดของหน้าอก และรูปร่างของสตรีมากขึ้น

แม้ในตอนแรกจะการปรับเปลี่ยนกันเฉพาะในกลุ่มของกีแซงก็ตาม แต่เมื่อสตรีอื่นได้พบเห็นเข้าบ่อยๆก็ได้ซึมซับเอาไปปฏิบัติ และด้วยอิทธิพลของงานศิลปะของต่างชาติที่เข้ามาก็ทำให้ชาวเมือง หรือช่างฝีมือชาวโชซอนได้รู้จักและเรียนรู้เพื่อทำและผลิตขึ้นใช้เองหรือขายเองในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ผู้ที่ไม่ได้มีฐานะมากนัก ก็สามารถที่มีฮันบกและเครื่องประดับที่สวยงามมาสวมใส่ได้ในเวลาต่อมา


นอกจากนี้ได้นำเอาการปักลวดลายลงบนตัวผ้า และสีของผ้ามาใช้เพื่อบ่งบอกชนชั้นและตำแหน่งในแต่ละอาชีพ แต่ละแผนกงานในราชสำนักอีกด้วย



อย่างไรก็ดีด้วยเหตุผลบางประการ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา สตรีชนชั้นล่างหยุดการสวมใส่ “ฮอรีตี” ปิดบังหน้าอก แน่นอนว่าได้มีคำถามต่อๆกันมา ว่า “ทำไมสตรีกลุ่มนี้ถึงไม่ปิดบังหน้าอก?” ฮันฮีซุค ผู้ที่เขียนหนังสือ “Women’s Life during the Chosŏn Dynasty-ชีวิตของสตรีในช่วงราชวงศ์โชซอน" ได้กล่าวถึงสาเหตุไว้ว่า

“อีกหนึ่งที่เป็นหน้าที่ที่สำคัญของสตรีสามัญธรรมดาหรือสตรีที่เกิดในตระกูลชั้นล่าง ก็คือ การให้กำเนิดและเลี้ยงดูแลบุตรชาย นั่นเอง โดยในสมัยนั้นถ้าสตรีผู้ใดให้กำเนิดบุตรชายถือเป็นเรื่องน่ายกย่องสรรเสริญมาก ซึ่งสตรีที่อยู่ในชนชั้นดังกล่าวนี้จึงพยายามสวมใส่รูปแบบการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่า ได้ให้กำเนิดบุตรชายหรือมีบุตรชายแล้ว เพราะสตรีในชนชั้นล่างที่ไม่มีความรู้หรืออาชีพฐานะทางสังคมใดๆเลย มีเพียงการให้กำเนิดทายาทชายให้กับสามีเท่านั้น ที่ทำให้พวกเธอมีเกียรติ อันน่าภาคภูมิใจ และได้รับการยอมรับจากครอบครัวของสามีได้ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะ เผยให้เห็นหน้าอกของพวกเธอ การปฏิบัติดังกล่าวดูเหมือนจะจำกัดแค่เพียงเฉพาะสตรีชนชั้นธรรมดาสามัญหรือสตรีที่เกิดในตระกูลชั้นต่ำเท่านั้น ซึ่งมีการถือปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงในช่วงปลายปี 1950 (http://blog.daum.net/ds3dsq/190)



ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โชซอนถูกต่างชาติเข้ามารุกรานมากมาย บ้างก็เพื่อเรียกร้องสิทธิพิเศษทางการค้า และยังมีการเข้ามาเพื่อพยายามเผยแพร่ศาสนาคริสต์อีกเป็นจำนวนมากซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับ จึงมีคำสั่งให้สังหารมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสหลายคน และเมื่อฝรั่งเศสทราบข่าวจึงตัดสินใจบุกหวังจะยึดเมืองโชซอน ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ Gapsin Coup (ค.ศ.1884) และ Gabo Reform (ค.ศ.1894) ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยพระเจ้าโกจง แห่งราชวงศ์โชซอน เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้ง-ต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างขุนนางกับพระราชินีที่พระนางทรงต้องการพัฒนาประเทศตามแบบตะวันตกและต้องการเปิดประเทศซึ่งขัดแย้งกับขุนนางที่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม และแม้เหตุการณ์นี้จะผ่านไปด้วยดี แต่ญี่ปุ่นที่กลายเป็นชาติที่มีอิทธิพลมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในสมัยเมจิ (ค.ศ.1868) ก็มีความคิดที่จะครอบครองโชซอน และเข้ามารุกรานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สตรีชาวโชซอนในสมัยนั้นเริ่มนำ  “장옷 (ชาง-อท)” , “쓸치마 (ซึลชีมา) หรือ 쓰개치마 (ซือแกชีมา)” หรือ “너울 (นออูล)”มาใช้เพื่อปิดบังใบหน้ากันเป็นจำนวนมาก และหันกลับมาสวมใส่เสื้อชอกอรีที่ยาวขึ้น แม้แต่สตรีผู้ให้ความบันเทิงอย่าง “กีแซง” เองก็เริ่มหันมาปกปิดเลือนร่าง และหน้าตาเช่นเดียวกัน เพื่อปกป้องตนจากการข่มเหงรังแกของทหารญี่ปุ่น หรือชาวต่างชาติที่เข้ามาคุกคามประเทศนั่นเอง




- ยุคล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น (ค.ศ. 19101945) และ สงครามเกาหลี (1950 -1953)



ต่อมาในช่วงยุคล่าอาณานิคมของญี่ปุ่น ผู้ที่มีฐานะ และอยู่ในชนชั้นสูงเริ่มมีความต้องการที่จะสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทันสมัยมากขึ้น จึงมีการออกแบบปรับสไตล์ของฮันบกใหม่มาใช้ โดยมีการจับคู่กระโปรงชีมาที่สั้นกว่าเมื่อก่อนสวมกับเสื้อชอกอรีสีขาว

ในเวลาเดียวกันนั้นเองวัฒนธรรมของชาวตะวันตกได้เข้ามา บวกกับการติดต่อซื้อขายสินค้า เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอื่นๆของชาวตะวันตกในเกาหลีสมัยนั้น ทำให้เกิดค่านิยมการแต่งกายแบบชาวตะวันตก ส่งผลให้การสวมใส่ฮันบกจากเดิมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงตามกระแสแฟชั่น และหันไปสวมใส่เครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตกกันมากขึ้น

และการสวมใส่ฮันบกในชีวิตประจำวันก็ได้เริ่มเลือนหายไปในปี 1960 จะสวมใส่กันก็ต่อเมื่อเป็นวันเทศกาลหรือในโอกาสพิเศษ เช่น วันปีใหม่ งานแต่งงาน เป็นต้น


--------------------------------
ซอน อินจู (แปล&เรียบเรียง)
- Asian Castle -

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น